welcome วิชาประวัติศาสตร์(22102) คุณครูชาญวิทย์ โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

20.แคว้นล้านนา

20.แคว้นล้านนา

 แคว้นล้านนา
         
 นักวิชาการเสนอความเห็นว่า ความขัดแย้งของแว่นแคว้นต่างๆในดินแดนประเทศไทย และประเทศใกล้เคียงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่๑๖–๑๘ ทำให้ศูนย์อำนาจเดิมที่คยยิ่งใหญ่ครอบคลุมภูมิภาคแห่งนี้มีสภาพเสื่อมถอย จึงเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดแคว้นอิสระภายใต้การนำของชนกลุ่มใหม่ขึ้นมามีอำนาจแทนที่ หลักฐานประวัติศาสตร์ระบุว่าแคว้นสำคัญที่มีพัฒนาการขึ้นในระยะใกล้เคียงกันคือ แคว้นล้านนาและแคว้นสุโขทัย[24]

            เมื่อพระเจ้ามังรายทรงผนวกดินแดนของแคว้นหริภุญชัยเข้ามาอยู่ในอำนาจทางการเมืองของพระองค์สำเร็จ ภายใต้การสนับสนุนของพ่อขุนงำเมืองแห่งแคว้นพะเยาและพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย พระองค์ได้สถาปนาเมืองเชียงใหม่ขึ้นในปีพ.ศ.๑๘๓๙ เพื่อเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและการปกครองของอาณาจักรล้านนา แคว้นหริภุญชัยจึงมีฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางศาสนาพุทธนิกานหินยานแทน

            ตำนานพื้นเมืองล้านนาระบุว่า ถิ่นฐานเดิมของพระเจ้ามังรายอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำกกในเขตจังหวัดเชียงราย กลุ่มชนเจ้าของวัฒนธรรมล้านนาประกอบด้วยชาวไทยลื้อหรือไทยเมืองซึ่งในระยะแรกได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตจังหวัดเชียงรายบริเวณอำเภอเชียงแสน แล้วขยายตัวออกไปในเขตอำเภอเวียงชัย พวกไทยลื้อได้เข้าไปผสมผสานกับกลุ่มชนในที่สูงตระกูลลาวจกในเขตอำเภอแม่จันและอำเภอแม่สาย จากนั้นจึงขยายตัวเข้าไปในเขตเมืองพะเยาและเมืองน่าน โดยยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางเครือญาติและมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับภูมิปัญญาด้านระบบการชลประทานแบบเหมืองฝาย[25]

            แคว้นล้านนาเป็นแคว้นสำคัญทางดินแดนภาคเหนือของประเทศไทยซึ่งมีพัฒนาการร่วมสมัยกับแคว้นสุโขทัยและอยุธยา บางสมัยดินแดนของแคว้นแห่งนี้ขยายออกไปถึงแคว้นสิบสองปันนา(ยูนนาน)และพื้นที่บางส่วนของรัฐไทยใหญ่(รัฐฉานในประเทศพม่า) ส่วนทางทิศใต้นั้นอาณาเขตของแคว้นล้านนาครอบคลุมมาจนถึงเมืองแพร่ เมืองน่านและเมืองตาก ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่๒๔ ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเป็นช่วงเวลาสั้น ต่อมาก็ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่๕ เมื่อรัฐบาลสยามดำเนินการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินด้วยการยุบหัวเมืองประเทศราช ล้านนาจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐประชาติสยามสืบมา